ยินดีต้อนรับทุกท่านที่เข้ามาชมเว็บไซต์ค่ะ/ครับ เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมไทย รวมถึงงานเทศกาลประเพณีต่างๆ ยินดีรับทุกคำติชม และความคิดเห็นต่างๆ ค่ะ/ครับ

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศิลปวัฒนธรรมไทย ภาคใต้.....หลาว


                กลุ่มคนในภาคใต้มีลักษณะแตกต่างกันออกไปเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆดังนี้
กลุ่มเชื้อสายจีน มาลายู เรียกชนกลุ่มนี้ว่ายะหยา หรือ ยอนย่า เป็นกลุ่มชาวจีน เชื้อสายฮกเกี๊ยนที่มาสมรสกับชนพื้นเมืองเชื้อสายมาลายู ชาวยะหยาจึงมีการแต่งกายอันสวยงาม ที่ผสมผสาน รูปแบบของชาวจีนและมาลายูเข้าด้วยกันอย่างงดงาม ฝ่ายหญิงใส่เสื้อฉลุลายดอกไม้ รอบคอ,เอว และปลายแขนอย่างงดงาม นิยมนุ่งผ้าซิ่นปาเต๊ะ ฝ่ายชายยังคงแต่งกาย คล้ายรูปแบบจีนดั้งเดิมอยู่

        กลุ่มชาวไทยมุสลิม ชนดั้งเดิม ของดินแดนนี้นับถือศาสนาอิสลาม และมี เชื้อสายมาลายู ยังคงแต่งกายตามประเพณี อันเก่าแก่ฝ่ายหญิงมีผ้าคลุมศีรษะ ใส่เสื้อผ้ามัสลิน หรือลูกไม้ตัวยาวแบบมลายูนุ่งซิ่นปาเต๊ะ หรือ ซิ่นทอแบบมาลายู ฝ่ายชายใส่เสื้อคอตั้ง สวมกางเกงขายาว และมีผ้าโสร่งผืนสั้น ที่เรียกว่า ผ้าซองเก็ต พันรอบเอวถ้าอยู่ บ้านหรือลำลองจะใส่โสร่ง ลายตารางทอด้วยฝ้าย และสวม
หมวกถักหรือ เย็บด้วยผ้ากำมะหยี่

        กลุ่มชาวไทยพุทธ ชนพื้นบ้าน แต่งกายคล้ายชาวไทยภาคกลาง ฝ่ายหญิงนิยมนุ่งโจงกระเบน หรือ ผ้าซิ่นด้วย ผ้ายกอันสวยงาม ใส่เสื้อสีอ่อนคอกลม แขนสามส่วน ส่วนฝ่ายชายนุ่งกางเกงชาวเล หรือ โจงกระเบนเช่นกัน สวมเสื้อผ้าฝ้ายและ มีผ้าขาวม้าผูกเอว หรือพาดบ่าเวลาออกนอกบ้านหรือไปงานพิธี



นอกจากนี้ยังมีประเพณีการละเล่น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตน และมีความบริสุทธิ์ในการแสดงออกตามภาวะแห่งการดำรงชีวิต การละเล่นพื้นเมืองภาคใต้มีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินอันเป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อย ตรากตรำจากการทำงาน เช่น การเล่นหนังตะลุง หรือโนรา การละเล่นบางอย่างเกิดขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลอง หรือเพื่อแสดงความยินดีในดอกาสที่บุคคลหรือสังคมประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น การรำโนราคล้องหงส์ในการโกนจุก หรือการแสดงซัมเป็งเพื่อรับขวัญแขกบ้านแขกเมือง นอกจากนี้มีการละเล่นหลายอย่างเกิดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาหรือเกี่ยวกับการบุญการกุศล เช่น การเล่นเพลงเรือ เพลงแห่นาค และมีการละเล่นบางอย่างเกิดขึ้นเพื่อเป็นการบวงสรวงผีสางเทวดา เช่น กาหลอ และโต๊ะครึมแล้วยังมีประเพณีชักพระประเพณีชักพระเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวใต้ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับ วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเชื่อกันว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์   พุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธ เจ้าขึ้นประทับบน บุษบกแล้วแห่ไปรอบเมือง







ศิลปวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน...เด้อ



                 กลุ่มคนในภาคอีสาน เป็นผู้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด ยึดมั่นในพุทธศาสนา และวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งเป็นศูนย์รวมชาวอีสานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   ภาคอีสานเป็นที่รู้จักแพร่หลายทางด้านศิลปะแบบเขมร โบราณวัตถุ และโบราณสถานที่สำคัญมากมายเช่น ศิลาจำหลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทเขาพนมรุ้ง ปราสาท หินเมืองต่ำ ปราสาทเขาพระวิหาร  นอกจากนั้น ชาวอีสานเป็นผู้มีความสามารถในการ ทอผ้าไทยมา เป็นเวลาช้านาน ภายหลังจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในการสนับสนุนการทอผ้าไหมของชาวอีสาน ส่งผลให้มีการทอผ้าไทยที่มีคุณภาพสูง อาทิ ผ้าไหม มัดหมี่ ผ้าทอพื้นเมืองลายขิด ผ้าไหมของชาวพูไทย จังหวัดนครพนม และผ้าไหมอำเภอมักธงชัย เป็นต้น แล้วก็ยังมีประเพณีฮีตสิบสอง คำว่า "ฮีต" หรือ "รีต" หรือ "จารีตประเพณี"  หมายความว่า "ประเพณี อันเนื่องด้วยศีลธรรมซึ่งคนส่วนรวมถือว่ามีค่าแก่สังคม ใครประพฤติฝ่าฝืนหรืองดเว้น ไปไม่กระทำ ตามที่กำหนดไว้ ถือว่าผิดเป็นชั่ว"    ฮีตสิบสองของชาวอีสานเป็นฮีตที่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องของความ เชื่อ ในพระพุทธศาสนาและประเพณีนิยมพื้นบ้าน




  

ศิลปวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง...จ้า



              ภาคกลางเป็นภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์มากจนมีคำพูดที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของภาคนี้ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวคนไทยในภาคกลางส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ทำประมงน้ำจืดและประมงน้ำเค็ม และก็ค้าขาย เพราะภาคนี้เป็นภาคที่มีการคมนาคมที่สะดวกสบายทั้งทางบกและทางน้ำ ในด้านอาหารการกินของคนในภาคกลางเป็นอาหารที่มีการใช้กะทิและเครื่องปรุงต่างๆมากที่สุด เช่น แกงเขียวหวาน แกงส้ม ต้มยำ นอกจากแกงแล้วก็ยังมีอาหารที่รู้จักกันดีก็คือ น้ำพริกปลาทู ในส่วนของการแต่งกายของคนภาคกลางนั้น ผู้ชาย นิยมนุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อราชประแตน ไว้ผมทรงมหาดไทย ผู้หญิง นุ่งผ้าซิ่น (ยาวครึ่งแข้ง) ห่มสไบเฉียง ผมเกล้าเป็นมวย สวมเครื่องประดับ การแสดงพื้นเมืองของภาคกลางก็คือ การรำกลองยาว, การละเล่นเพลงเกี่ยวข้าว (เต้นกำรำเคียว), เพลงฉ่อย  ลำตัด เพลงอีแซว ประเพณีดั่งเดิมของทางภาคกลางก็คือ ประเพณีวิ่งควาย เป็นงานประเพณีประจำจังหวัดชลบุรี เป็นหนึ่งในประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชลบุรีที่มีการจัดมากว่า 100 ปีแล้ว เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 หรือก่อนออกพรรษา 1 วัน เพื่อเป็นการทำขวัญควายและให้ควายได้พักผ่อนหลังจากตรากตรำกับการงานในท้องนามายาวนาน   ประเพณีรับบัว  โยนบัว  เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวบางพลี จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 และช่วงเช้าตรู่ของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11การจัดงานประกอบด้วยการนมัสการและขบวนแห่หลวงพ่อโต ทั้งทางบกและทางน้ำ  ประเพณีแข่งเรือ   เป็นประเพณีหน้าน้ำของคนไทย เป็นการละเล่นในยามน้ำหลากที่สืบทอดมาแต่โบราณ และมักมีการแข่งเรือควบคู่ไปกับการทำบุญ ปิดทอง ไหว้พระและงานกฐิน ช่วยสร้างบรรยากาศให้งานบุญครึกครื้นขึ้น   เป็นต้น







ศิลปวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ...เจ้า




             คนไทยในภาคเหนือมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายนิยมปลูกบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่บ้าน หากพื้นที่ใดอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนาก็จะมีหมู่บ้านตั้งเป็นระยะ คนในภาคนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสาย ยวนหรือโยนก ภาษาที่ใช้เป็นภาษาถิ่นหรือที่เข้าใจกันว่า ภาษาคำเมือง ผู้คนมักประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขา มีพื้นที่ราบน้อยหรือประมาณ ¼ ของพื้นที่ทั้งหมด ชาวบ้านทำนาแบบนาทดน้ำพื้นที่สูงปลูกข้าวไร่ พื้นที่ราบแอ่งเขาปลูกข้าวและพืชอื่นๆจึงทำให้อาหารของคนในภาคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพืช ผักที่มีอยู่ในท้องที่ การทำอาหารของคนในภาคเหนือมักจะทำให้สุกมากๆอาหารที่ขึ้นชื่อของทางภาคเหนือที่รู้จักกันดีก็คือ น้ำพริกอ่อง, ขนมจีนน้ำเงี้ยว, ไส้อั่ว ในส่วนของการแต่งกายผู้ชายจะนุ่งกางเกงขายาวลักษณะแบบ 3 ส่วน  เรียกว่าเตี่ยว สวมเสื้อม่อฮ้อม (ชุดนี้ใส่เวลาทำงาน) ผู้หญิง นุ่งผ้าซิ่นหรือผ้าถุง (ยาวเกือบถึงตาตุ่ม) ที่มีสีสันลวดลายสวยงาม การแสดงของทางภาคนี้คือการร่ายรำที่มีจังหวะช้าๆ ท่ารำที่อ่อนช้อย นุ่มนวล เช่น ฟ้อนเงี้ยว , ฟ้อนเล็บ , ฟ้อนเทียน ประเพณีดั่งเดิมของทางภาคเหนือก็จะมี ประเพณียี่เป็ง   ประเพณีลอยกระทงแบบล้านนาไทย โดยคำว่า ยี่ แปลว่า สอง ส่วน เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองของไทย     ประเพณีปอยส่างลอง    "งานบวชลูกแก้ว" เพื่อทำการบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา โดยจะพบเห็นการจัดปอยส่างลองกันมากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง อำเภอขุนยวม และอำเภอปาย คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประเพณีนี้ก็สืบเชื้อสายมาจากไทใหญ่ ซึ่งก็ได้ร่วมกันสืบทอดงานประเพณีนี้มาเป็นเวลาช้านาน  ประเพณีกรวยสลาก ช่วงเวลา ประเพณีกรวยสลาก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า กินก๋วยสลาก ได้ปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปีเกือบทุกวัด เริ่มจะไม่มีกำหนดตายตัว อาจจะทำในช่วงเข้าพรรษาก็เคยมี เป็นงานประเพณีของท้องถิ่นที่ปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปี ทุกบ้านจะหยุดงานเพื่อมาร่วมกันเตรียมงาน เตรียมกองสลาก เตรียมจัดอาหารเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงาน  เป็นต้น












                                                                                                                                   

ความหมายศิลปวัฒนธรรม


   ความหมายของศิลปะ

     ศิลปะ คือ ความงาม คุณค่าของความงดงาม หรือผลงานของมนุษย์ที่มีจุดมุ่งหมายการสร้างสรรค์และแสดงออกถึงความงาม เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจของมนุษย์ ให้มนุษย์มีอารมณ์เพลิดเพลินและมีความสุขแห่งชีวิตอย่างแท้จริง

     ขอบข่ายของงานศิลปะ
                 -      วิจิตรศิลป์ (Fine Arts) เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ภาพพิมพ์ วรรณกรรม นาฏศิลป์
                 -      ประยุกต์ศิลป์ (Applied Artes) เช่น ศิลปะพื้นบ้าน




 ความหมายของวัฒนธรรม

                  •     วัฒนธรรม พ.ศ.2483 ในพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติพ.ศ. 2485 นิยามความหมายว่า วัฒนธรรมหมายความว่า ลักษณะที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน
               •     มีผู้ให้คำจำกัดความของคำว่า "วัฒนธรรม" ไว้มากมาย แต่เมื่อพิจารณาถึงสาระสำคัญแล้ว สรุปได้ว่า "วัฒนธรรม" หมายถึง "แบบอย่างหรือวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนแต่ละกลุ่ม เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการอยู่ร่วม กันอย่างปกติสุขในสังคม" วัฒนธรรมแต่ละสังคมจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ และทรัพยากร ต่างๆ ลักษณะอีกประการหนึ่งของวัฒนธรรมคือ เป็นการสั่งสมความคิด ความเชื่อ วิธีการ จากสังคมรุ่นก่อน ๆ มีการเรียนรู้ และสามารถถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อๆ ไปได้ วัฒนธรรมใดที่มีรูปแบบ หรือแนวความคิดที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะเลือนหายไป



เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย
     วัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดี
     วัฒนธรรมทางวัตถุ
     วัฒนธรรมทางจิตใจ
     วัฒนธรรมทางจารีต/ขนบธรรมเนียมประเพณี เช่นพระราชพิธี
     วัฒนธรรมทางสุนทรียะ เช่น ทัศนศิลป์ การแสดง




ลักษณะวัฒนธรรมไทย

     พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
     มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
     มีอักษรไทย/ภาษาไทย
     ประเพณีไทย
     ศิลปกรรมไทย เช่น สถาปัตยกรรม วรรณกรรม
     มารยาท
     วัฒนธรรมพื้นฐานเช่น การแต่งกาย อาหาร ยาไทย
วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่แสดงความเป็นชาติให้ปรากฏชัดเจนขึ้น ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นทำให้คนไทย แตกต่างจากชาติอื่น ๆ มีเอกลักษณ์ประจำชาติที่เห็นได้จากภาษาที่ใช้ อุปนิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิดตลอดจนการ แสดงออกที่นุ่มนวล อันมีผลมาจากสังคมไทยที่เป็นสังคมแบบประเพณีนำ และเป็นสังคมเกษตรกรรม เนื่องจาก ประชากรส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในชนบท สภาพของสิ่งแวดล้อมที่ดี กล่อมเกลาจิตใจมีความโอบอ้อมอารี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ เกื้อกูลซึ่งกันและกันตลอดมา

                


ที่มา  (เอกสารประกอบการเรียนการสอนวิชา ศิลปวัฒนธรรมไทยเพื่อการท่องเที่ยวอ.จิรานุช  โสภา)